ประวัติความเป็นมา
เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร เมื่อปี พ.ศ.2498 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำ อุปโภค
บริโภค และการเกษตร อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้งซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ
กล่าวคือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติหรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝน
จากพระราชกรณียกิจ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร
ในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอนับแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ
จนตราบเท่าทุกวันนี้ ทรงพบเห็นว่าภาวะแห้งแล้งได้ทวีความถี่
และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ ทรงสังเกตเห็นว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า
แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกัน จนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้ง
ๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทรงคิดคำนึงว่า น่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์
ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ ทรงเชื่อมั่นว่า
ด้วยลักษณะของกาลอากาศ ภูมิอากาศ
และภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน
และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย
โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฤดูฝน
และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปีของประเทศไทย จะสามารถดัดแปรสภาพอากาศ
ให้เกิดเป็นฝนตกได้อย่างแน่นอน
จาก พ.ศ.2498
เป็นต้นมา ทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา
และการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งทรงรอบรู้และเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับทั้งใน
และต่างประเทศ จนทรงมั่นพระทัย จึงพระราชทานแนวคิดนี้แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล
ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม
ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้นในปีถัดมา
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้
ลักษณะการดำเนินงาน
การทำฝนหลวงเป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า
จะต้องให้เครื่องบินที่มีอัตราการบรรทุกมากๆ บรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า
โดยดูจากความชื้นของจำนวนเมฆ และสภาพของทิศทางลมประกอบกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝนคือ
ความร้อนชื้นปะทะความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม
กล่าวคือ เมื่อมวลอากาศร้อนชื้นที่ระดับผิวพื้นขึ้นสู่อากาศเบื้องบน
อุณหภูมิของมวลอากาศ จะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง
หากอุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอก็จะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว
จะเกิดขบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำในมวลอากาศขึ้นบนแกนกลั่นตัว เกิดเป็นฝนตกลงมา
ฉะนั้นสารเคมีที่ใช้จึงประกอบด้วย สูตรร้อน
เพื่อใช้กระตุ้นเร่งเร้ากลไกการหมุนเวียนของบรรยากาศ สูตรเย็น
ใช้เพื่อกระตุ้นกลไกการรวมตัวของละอองเมฆ ให้โตขึ้นเป็นเม็ดฝน
และสูตรที่ใช้เป็นแกนดูดซับความชื้นเพื่อใช้กระตุ้นกลไกระบบการกลั่นตัวให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ขั้นตอนการทำฝนหลวง
ขั้นตอนที่หนึ่ง : "ก่อกวน"
เป็นขั้นตอนที่เมฆธรรมชาติเริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง การปฏิบัติการฝนหลวง ในขั้นตอนนี้ จะมุ่งใช้สารเคมีไปกระตุ้นให้มวลอากาศเกิดการลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำ หรือ ความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิด เมฆ ระยะ เวลาที่จะปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ ไม่ควรเกิน ๑๐.๐๐ น. ของแต่ละวัน โดยการใช้ สารเคมีที่สามารถดูดซับไอน้ำจากมวล อากาศได้ แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ ต่ำ (มีค่าCritical relative humidity ต่ำ) เพื่อกระตุ้นกลไกของกระบวนการกลั่นตัวไอน้ำในมวลอากาศ (เป็นการสร้าง Surrounding ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเมฆด้วย) ทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย เมื่อเมฆเริ่มเกิด มีการก่อตัว และเจริญเติบโตทางตั้งแล้ว จึงใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อนโปรยเป็นวงกลม หรือเป็นแนวถัดมาทางใต้ลมเป็นระยะทางสั้นๆ เข้าสู่ก้อนเมฆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มแกนร่วม (maincloud core) ในบริเวณปฏิบัติการสำหรับใช้เป็นศูนย์กลาง ที่จะสร้างกลุ่มเมฆฝนในขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนที่สอง :
"เลี้ยงให้อ้วน"
เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโตซึ่งเป็นระยะสำคัญมากในการปฏิบัติการฝนหลวง
เพราะจะต้องไป เพิ่มพลังงานให้แก่ updraft ให้ยาวนานออกไป
ต้องใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์หรือศิลปะแห่งการทำฝนควบคู่ไปพร้อมๆ กัน
เพื่อตัดสินใจโปรยสารเคมีฝนหลวงชนิดใด ณ ที่ใดของกลุ่มก้อนเมฆและในอัตราใดจึงเหมาะสม เพราะต้องให้กระบวนการเกิดละอองเมฆสมดุลกับความแรงของ updraft
มิฉะนั้นจะทำให้เมฆสลาย
ขั้นตอนที่สาม : "โจมตี"
เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธีปฏิบัติการฝนหลวง
เมฆหรือกลุ่มเมฆฝนมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้
ภายในกลุ่มเมฆจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมาย หากเครื่องบินบินเข้าไปในกลุ่มเมฆฝนนี้
จะมีเม็ดน้ำเกาะตามปีก และกระจังหน้าของเครื่องบิน เป็นขั้นตอนที่สำคัญ
และอาศัยประสบการณ์มากเพราะจะต้องปฏิบัติการเพื่อลดความรุนแรงของ updraft
หรือทำให้อายุของ updraft หมดไป
สำหรับการปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ จะต้องพิจารณาจุดมุ่งหมายของการทำฝนหลวง
ซึ่งมีอยู่ ๒ ประเด็นคือเพื่อเพิ่มปริมาณฝนตก (Rain enhancement) และเพื่อให้เกิดการกระจายการตกของฝน (Rain redistribution)
เครื่องมือและอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ประกอบในการทำฝนหลวง
1.เครื่องมืออุตุนิยมวิทยา
ใช้ในการตรวจวัดและศึกษาสภาพอากาศประกอบการวางแผนปฏิบัติการ
นอกเหนือจากแผนที่อากาศ ภาพถ่าย ดาวเทียมที่ได้รับสนับสนุนเป็นประจำวันจากกรมอุตุนิยมวิทยาที่มีใช้ ได้แก่
1.1.เครื่องวัดลมชั้นบน
(pilot balloon) ใช้ตรวจวัดทิศทางและความเร็วลมระดับสูงจากผิวดินขึ้นไป
1.2.เครื่องวิทยุหยั่งอากาศ
(radiosonde) เป็นเครื่องมืออิเล็คทรอนิคส์ประกอบด้วยเครื่องส่งวิทยุ
ซึ่งจะติดไปกับบอลลูน และเครื่องรับสัญญาณวิทยุซึ่งจะบอกให้ทราบถึงข้อมูลอุณหภูมิความชื้น
ของบรรยากาศในระดับต่างๆ
1.3.เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศ ที่มีใช้อยู่เป็นแบบติดรถยนต์
เคลื่อนที่ได้มีประสิทธิภาพ สามารถบอกบริเวณที่มีฝนตกและความแรง
หรือปริมาณน้ำฝนและการเคลื่อนที่ของกลุ่มฝนได้ในรัศมี 200-400 กม. ซึ่งนอกจากจะใช้ประกอบการวางแผนปฏิบัติการแล้ว
ยังใช้เป็นหลักฐานในการประเมินผลปฏิบัติการฝนหลวงอีกด้วย
1.4.เครื่องมือตรวจอากาศผิวพื้นต่าง
ๆ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ
2.เครื่องมือเตรียมสารเคมี ได้แก่เครื่องบดสารเคมีเครื่องผสมสารเคมี
ทั้งแบบน้ำและแบบผง ถังและกรวยโปรยสารเคมี
3.เครื่องมือสื่อสาร
ใช้ในการติดต่อสื่อสารและสั่งการระหว่างนักวิชาการบนเครื่องบินกับฐานปฏิบัติการ
หรือระหว่างฐานปฏิบัติการ 2 แห่ง หรือใช้รายงานผลระหว่างฐานปฏิบัติงานสำนักงานฯ
ในส่วนกลางโดยอาศัยข่ายร่วมของวิทยุตำรวจ ศูนย์สื่อสารสำนักงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย
วิทยุเกษตร เครื่องมือสื่อสารที่ใช้ในปัจจุบัน
ได้แก่วิทยุซิงเกิลไซด์แบนด์ วิทยุ FM.1, FM.5 เครื่องโทรพิมพ์
เป็นต้น
4.เครื่องมือทางวิชาการอื่น
ๆ เช่น
อุปกรณ์ทางการวางแผนปฏิบัติการ เข็มทิศ แผนที่ กล้องส่องทางไกล
เครื่องมือตรวจสอบสารเคมี กล้องถ่ายภาพ ฯลฯ
5.สถานีเรดาร์ฝนหลวง
หรือ เรดาร์ดอปเปลอร์ (Doppler
radar) ในบรรดาเครื่องมืออุปกรณ์วิทยาศาสตร์ภายใต้โครงการวิจัยทรัพยากรบรรยากาศประยุกต์จำนวน
8 รายการนั้น
เรดาร์ดอปเปลอร์จัดเป็นเครื่องมือที่มีมูลค่าสูงสุด
เรดาร์นี้ใช้เพื่อวางแผนการทดลองและติดตาม ประเมินผลปฏิบัติการฝนหลวงสาธิต
เครื่องมือชนิดนี้ทำงานโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ (Microvax 3400) ควบคุมสั่งการ เก็บบันทึก รวบรวมข้อมูล สามารถนำข้อมูลกลับมาแสดงใหม่จากเทปบันทึก
ในรูปแบบการทำงานของ IRIS (IRIS Software) ผ่านโพรเซสเซอร์ (RUP-6)
กล่าวคือ
ข้อมูลจะถูกบันทึกไว้ในเทปบันทึกข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถนำมาใช้ได้ตลอด
ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบเรดาร์ การแสดงผล/ข้อมูล โดยจอภาพ
อ้างอิงจาก:
www.wikipedia.org
www.dit.dura.ac.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น