วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ธุรกิจ



ความหมายและความสำคัญของธุรกิจ
ความหมายของธุรกิจ
             ธุรกิจ หมายถึงกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจัดจำหน่าย และการบริการ โดยภายในหน่วยงานหรือธุรกิจนั้นๆ มีการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาผสมผสานกันอย่างมีระบบ มีระเบียบตามกฏเกณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนหรือผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดผลประโยชน์หรือบรรลุตามเป้าหมายของธุรกิจ และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
ความสำคัญของธุรกิจ
      ธุรกิจเป็นหัวใจสำคัญของสังคม สังคมจะเจริญก้าวหน้า มีความเป็นอยู่ที่ดี เป็นที่ยอมรับของชาวต่างประเทศ ก็ต้องอาศัยความเจริญของธุรกิจ ซึ่งอาจสรุปความสำคัญของธุรกิจได้ดังนี้
1.  ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีความก้าวหน้าและมั่นคง เนื่องจากมีการลงทุนประกอบธุรกิจ ทำให้มีการหมุนเวียน มีการกระจายรายได้ ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น
2. ช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการที่ประชาชนมีรายได้ จำเป็นต้องเสียภาษีอากรและค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้รัฐเพื่อที่จะนำรายได้เหล่านี้ไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ
3. ช่วยให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การทำธุรกิจย่อมต้องมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอยู่เสมอ เพื่อเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และทันคู่แข่งขัน
4. ช่วยให้ประชาชนมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น ทั้งนี้เพราะธุรกิจทำให้มีการจ้างงาน ประชาชนมีรายได้
5. ช่วยลดปัญหาทางด้านสังคม คือปัญหาเรื่องการว่างงาน ถ้าประชาชนมีการว่างงานจำนวนมาก ก็จะไม่มีรายได้ ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นตามมา เช่น การเกิดอาชญากรรม


องค์ประกอบของกิจกรรมทางธุรกิจ
        จากความหมายของธุรกิจจะเห็นได้ว่าธุรกิจจะดำเนินได้นั้นต้องมีการนำกิจกรรมหลายๆอย่างมาประสานกัน ซึ่งกิจกรรมนั้นๆก็คือ การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบภายในธุรกิจนั้นเอง
        หน้าที่ทางธุรกิจ หมายถึง การดำเนินกิจกรรมต่างๆที่จะผสมผสานทรัพยากรที่มีอยู่ภายในธุรกิจหรือหน่วยงานเข้าด้วยกันอย่างมีระเบียบกฎเกณฑ์ และสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมเพื่อให้สินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
        ทรัพยากร(Resource) ที่หน่วยงานมีอยู่ คือ วัสดุ อุปกรณ์ หรือสินทรัพย์ต่างๆ ที่หน่วยงานใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น ประเภทหรือเรียกสั้นๆว่า 4 M's อันประกอบด้วย
1. คน(Man) เป็นทรัพยากรแรกที่ก่อให้เกิดการดำเนินงานภายในธุรกิจ ซึ่งนับรวมทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายปฎิบัติการ
2. เงินทุน(Money or Capital) คือสินทรัพย์ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ อาจจะอยู่ในรูปของเงินสดหรือสินทรัพย์อื่นๆก็ได้
3. วัตถุดิบหรืออุปกรณ์(Material) คืออาจจะเป็นรูปของวัตถุดิบ ถ้าธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจการผลิตเช่น เครื่องจักรกล วัสดุ อะไหล่ต่างๆ หรืออาจใช้ในการดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จได้
4. การบริหารงานหรือการจัดการ(Management) คือกระบวนการหรือขั้นตอนในการนำคน เงิน ทุน และวัตถุดิบหรือวัสดุอุปกรณ์ มาดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด             
        การดำเนินของหน้าที่ภายในธุรกิจ เพื่อให้ทรัพยากรประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องแบ่งหน้าที่ต่างๆออกเป็น 5 หน้าที่ ดังนี้
1. หน้าที่เกี่ยวกับการผลิต(Production Function)
2. หน้าที่เกี่ยวกับการตลาด(Marketing Function)
3. หน้าที่เกี่ยวกับการเงิน(Financial Function)
4. หน้าที่เกี่ยวกับการบัญชี(Accounting Function)
5. หน้าที่เกี่ยวกับบุคคลากร(Personal Function)



ประเภทของธุรกิจ
         เราสามารถแบ่งประเภทธุรกิจได้อย่างกว้างๆเป็น 2 ประเภท คือ
1. ธุรกิจการผลิต(Goods-Producing Businesses) ธุรกิจจะผลิตสินค้าที่จับต้องได้(Tangible goods) ผ่านกระบวนการผลิตต่างๆ ธุรกิจประเภทนี้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก หรือ อาจเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่ใช้ทุนเป็นหลัก(Capital-intensive business) เช่นธุรกิจผลิตรถยนต์ ธุรกิจโทรคมนาคม เป็นต้น

2. ธุรกิจการบริการ(Service Businesses) ธุรกิจจะผลิตสินค้าที่ไม่มีตัวตน(Intangible goods) เช่นธุรกิจการเงิน ประกันภัย การค้าส่งค้าปลีก เป็นต้น ธุรกิจภาคบริการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก(Labor-intensive business) จึงเป็นธุรกิจที่ต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์เป็นหลัก

         การแบ่งประเภทของธุรกิจตามลักษณะของกิจกรรมที่ธุรกิจกระทำ แบ่งออกได้ดังนี้
1. ธุรกิจการเกษตร(Agriculture) การประกอบธุรกิจการเกษตร ได้แก่ การทำนา การทำไร่ การทำสวน การทำป่าไม้ การทำปศุสัตว์ ฯลฯ

2. ธุรกิจอุตสาหกรรม(Manufacturing) การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ได้แก่ ธุรกิจผลิตสินค้าเพื่ออุปโภค แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
     2.1. อุตสาหกรรมในครัวเรือน จัดเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ใช้แรงงานเฉพาะสมาชิกในครอบครัว ลงทุนไม่สูงนักส่วนใหญ่เป็นการใช้เวลาว่างจากการประกอบอาชีพหลัก คือ การทำนาทำไร่ ขณะที่รอเก็บเกี่ยวพืชผลก็ใช้เวลาว่าง มาทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้แก่ อุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา อุตสาหกรรมทำเครื่องเขิน อุตสาหกรรมทำเครื่องจักสาน ฯลฯ
      2.2. อุตสาหกรรมโรงงาน เป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ผลิตสินค้ามีโรงงาน มีเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าได้ครั้งละจำนวนมาก มีการจ้างแรงงานจากบุคคลภายนอก ได้แก่ โรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป โรงงานผลิตพลาสติก ฯลฯ

3. ธุรกิจเหมืองแร่(Mineral) การประกอบธุรกิจเหมืองแร่ ได้แก่ การทำเหมืองแร่ชนิดต่างๆ การขุดเจาะถ่านหิน การขุดเจาะนำทรัพยากรธรรมชาติต่างๆมาใช้

4. ธุรกิจการพาณิชย์(Commercial) เป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่กระจายสินค้าที่ผลิตจากอุตสาหกรรมต่างๆไปสู่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้อุปโภคบริโภคสินค้าตามความต้องการ ได้แก่ ธุรกิจพ่อค้าคนกลาง ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่างๆ

5. ธุรกิจการก่อสร้าง(Construction) เป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่ในการนำวัสดุต่างๆ ได้แก่ อิฐ หิน ปูน ทราย มาใช้ในการก่อสร้าง เช่น การสร้างถนน สร้างอาคาร สร้างเขื่อน ก่อสร้างโรงพยาบาล เป็นต้น

6. ธุรกิจการเงิน(Finance) เป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่ส่งเสริมให้ธุรกิจอื่นทำงานได้คล่องตัวขึ้น เนื่องจากในการทำธุรกิจจะต้องเริ่มจากการลงทุน ซึ่งต้องใช้เงินในการลงทุน เช่น นำมาซื้อที่ดิน ปลูกสร้างอาคาร จ้างคนงาน ซื้อวัตถุดิบ ซื้อเครื่องจักร ฯลฯ ซึ่งถือว่าธุรกิจการเงินเป็นแหล่งที่ธุรกิจอื่นสามารถติดต่อในการจัดหาทุนได้ นอกจากนั้นในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศหรือส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ ธุรกิจการเงินจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อซื้อขาย ชำระเงินระหว่างกัน ธุรกิจที่จัดเป็นธุรกิจการเงิน ได้แก่ ธุรกิจประเภทธนาคาร บริษัทประกันภัย บริษัทการเงิน

7. ธุรกิจให้บริการ(Service) เป็นธุรกิจที่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภค ได้แก่ ธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจการสื่อสาร ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจการโรงแรม ฯลฯ

8. ธุรกิจอื่นๆ เป็นธุรกิจที่นอกเหนือจากธุรกิจประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจอาชีพอิสระต่างๆ เช่น วิศวกร แพทย์ สถาปัตย์ ช่างฝีมือ ประติมากรรม ฯลฯ

อ้างอิงจาก:
www.myumaisuniya.blogspot.com
www.novabizz.com/Business.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น